วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษอย่างไรดี?

มาเขียนชื่อภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษกันดีกว่า!

          มีหลายครั้งที่สอนๆหนังสือแล้วให้นักศึกษาส่งงานบ้าง สอบบ้าง ซึ่งจะต้องมีการเขียนชื่อเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ สิ่งที่พบเสมอคือ นักศึกษาเขียนชื่อนามสกุลของตัวเองเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้บ้าง เขียนแล้วอ่านไม่ได้ตามชื่อภาษาไทยบ้าง เขียนตามตัวอักษรเลย ซึ่งอ่านแล้วก็ไม่ใช่ชื่อตนเองเลย เหตุการณ์แบบนี้เจอทุกภาคเรียน เจอตั้งแต่รับราชการครูมาจนทุกวันนี้ ที่สำคัญตัวเองก็เขียนชื่อตัวเองมาแปลกๆเป็นเวลานานมากกว่า 30ปีเหมือนกันครับ ก๊ากกกกกกกกกกกก นึกว่าเจ๋ง! ที่แท้ก็เป็นเหมือนนักศึกษา บอกเลยว่า ไม่อายครับ! ผิดก็ยอมรับผิดครับ
          แต่มาถึงตอนนี้ ประสบการณ์ในการใช้ภาษาอังกฤษและฐานความรู้ที่มีมานานมากจากการอบรมสั่งสอนของคุณพ่อ คุณแม่ คุณครูบาอาจารย์ทุกๆท่าน จึงเป็นผลทำให้ตนเอง "คิด-พิจารณา-ใคร่ครวญ" จนเกิดTacit Knowledge ในตัวของผมเองโดยเฉพาะการเขียนชื่อไทยเป็นอังกฤษครับ (ถูกผิดประการใดอย่าได้เชื่อจนกว่าจะได้ลองเสียก่อนนะครับ)
          หลักในการเขียนชื่อไทยเป็นอังกฤษให้จำง่ายๆ ว่า "ให้เขียนตามคำอ่าน" ไม่ใช่เขียนตามตัวอักษร เพราะเราเขียนเพื่อให้ฝรั่งอ่านได้ มิใช่ให้ฝรั่งทราบตัวสะกดคำไทยนะครับ  นอกจากนั้นให้จำเสมอว่า ตัวสะกดในภาษาไทยมี ๘ แม่เท่านั้น คือ กก  กด  กบ  กง  กน  กม  เกย  เกิว(เกอว) 
          ดังนั้นคำอ่านภาษาไทยจะเขียนอย่างไรก็ตาม เวลาอ่านก็ต้องมีตัวสะกด ๘ แม่เท่านั้น มาดูขั้นตอนการเขียนง่าย ๆ สไตล์ครูธานินทร กันครับ

          ขั้นที่ ๑ เขียนจากชื่อภาษาไทยเป็นคำอ่าน

ตัวอย่าง  ชือนามสกุลของผมคือ ธานินทร  บุญยะกาพิมพ์ 
              เขียนเป็นคำอ่านได้ว่า
              ธานินทร           เขียนคำอ่านว่า        ทา - นิน - ทอน
              บุญยะกาพิมพ์   เขียนคำอ่านว่า        บุน - ยะ - กา - พิม

          ขั้นที่ ๒  เปลี่ยนจากคำอ่านไทยเป็นคำอ่านอังกฤษ

ตัวอย่าง 
ธานินทร          =  ทา - นิน - ทอน           =  ta - nin - ton

บุญยะกาพิมพ์  =  บุน - ยะ - กา - พิม      =  boon - ya - ga - pim

          ขั้นที่ ๓  เขียนใหม่เสียให้เรียบร้อย อาจแต่งเติมได้ตามใจชอบ(นิดๆหน่อย)

ตัวอย่าง   Taninton  Boonyagapim

          แต่ผมอยากตกแต่งคำสุดท้ายให้เห็นว่า"พิม" ของผมนั้นลงท้ายด้วย "พ์" ผมเลยขอเติม "p" ท้ายอีกสักตัวหนึ่ง(ไม่มากมายอะไร พอไหวครับ) จึงเขียนใหม่หลังจากปรับแต่งแล้ว ได้ว่า Taninton  Boonyagapimp ง่ายไหมครับ

          ครั้งหนึ่งผมไปเปิดบัญชีธนาคาร พนักงานธนาคารเขียนชื่อผมโดยไม่ยอมถามเลย โดยเขียนว่า ธานินทร = Tanintr  แล้วมันจะออกเสียงได้ไงหว่า หากเขียนว่า Tanintr คงต้องออกเสียงเป็น ทา-นิน-ทรึ  หรือ ทา-นิน-ทึ-รึ เป็นแน่แท้ ผมเลยบอกเขาว่า ต้องเขียนว่า Taninton  เขาก็เถียงผมว่า ก็ "ทร" ไง จึงต้องเขียนว่า tr (แล้วมันอ่าน ทอน ได้ไหมเล่า เถียงจัง)  มิหนำซ้ำยังเถียงต่อว่า "ton" ต้องอ่านว่า "ตัน" ผมเลยบอกไปอีกว่า ไอ้ "ton" นั้นภาษาอังกฤษออกเสียงว่า "ทอน" แปลว่า "ตัน หรือ ๑๐๐๐ กิโลกรัม " ต่างหากเล่า! พนักงานท่านนั้นหัวเสียไปเลย แต่จะหัวเสียอย่างไร ก็ยอมตามผมครับ 
          ที่ผมประทับใจมากคือ เจ้าพนักงานบัตรประชาชน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ท่านทำบัตรประชาชนให้ผม ก่อนที่จะเขียนชื่อภาษาอังกฤษให้ผม ท่านถามผมว่า "ชื่อภาษาอังกฤษของอาจารย์เขียนยังไงครับ"  อันนี้ผมดีใจมากสุดๆเลยครับ เพราะเจ้าพนักงานท่านนี้ใจกว้างมากและใจกล้าด้วยที่เมื่อไม่รู้ท่านก็ถาม ไม่เห็นว่าจะเสียหน้าตรงไหนเลยครับ
          จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผมได้ข้อคิดในชีวิตอีกอย่าง คือ หากไม่รู้ก็ถามเสียให้รู้ไม่ต้องไปวางท่ามากมายอะไรว่าฉันเป็นครู ฉันเรียนจบ ตรี โท เอก..... ซึ่งคนไทยโบราณท่านมีคำพูดดี ๆ ให้ลูกหลานจดจำไว้ว่า "ทางอยู่ที่ปาก" หรือ "พูดดีเป็นศรีแก่ปาก" นั่นหมายความว่า เรามีปากไว้ใช้ให้เกิดประโยชน์ไงครับ
          ขอเชิญชวนทุกท่านลองติดตามตอนต่อไป ผมจะลองยกตัวอย่างเรื่องนี้ให้เห็นอีกเยอะๆเลยครับ ตามมานะครับๆๆๆๆๆๆ
         

        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น